16 ตุลาคม 2566 ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. เปิดการอบรมเชิงปฎิบัติการค่ายปัญญาประดิษฐ์ กับ วิทยาการข้อมูล (AI & Data Science Camp) ระหว่างวันที่ 16-25 ตุลาคม 2566 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินทร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ผู้เข้าอบรมเป็นนักเรียนจากโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในพื้นที่ภาคกลางและเครือข่าย จำนวน 50 คน ที่จะได้รับความรู้หลากหลายด้าน ได้แก่ ความปลอดภัยด้านดิจิทัลสสำหรับการศึกษา โดยทีมวิทยากรจากศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance Clinic) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ESTDA) ความรู้ด้าน Design Thinking โดย Titan Education และ AI Literacy โดย ทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EDT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) Data Science โดย ทีมสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ผู้เข้าอบรมยังได้มีโอกาสเยี่ยมชม “LANTA supercomputer” ที่ติดตั้งในห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟต์แวร์ (Software Quality Testing Laboratory -SQUAT)และศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ของเนคเทค สวทช. การอบรมครั้งนี้เปิดโอกาศให้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมมาจัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ตามโจทย์ที่กำหนดโดยหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ บริษัทเอกชน และหน่วยงานวิจัย นับส่วนหนึ่งของ WiL (Work integrated Learning) หรือ การบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับการทำงานให้นักเรียนมีทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นการพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ภาคธุรกิจในปัจจุบัน พร้อมกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง
การอบรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในโครงการพัฒนาเพิ่มผู้มีความสามารถพิเศษระดับมัธยมศึกษา-อาชีวศึกษาและเครือข่าย ด้านวิทยาการหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และโค้ดดิ้ง (Robotics, AI, and Coding :RAC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (Fibo) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ภายใต้ทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) มุ่งเน้นการสร้างกำลังคนให้มีทักษะด้านเทคโนโลยี Robotics, AI และ Coding เนื่องจากวิทยาการหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เป็นฐานและหัวใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมรวมถึงกระบวนการผลิตแห่งอนาคต สามารถบูรณาการเข้ากับเทคโนโลยีที่อยู่ในความสนใจ ของโลก เช่น Computational Neuroscience ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ยังขาดแคลนกำลังคนในปัจจุบันโครงการนี้จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนากำลังคนที่มีความสามารถพิเศษซึ่งมีทักษะด้านวิทยาการหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ และโค้ดดิ้ง เพื่อเป็นกำลังสำคัญที่ตอบสนองต่อกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคตของประเทศไทยทั้งในด้านหุ่นยนต์ ยานยนต์แห่งอนาคต การแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษาจากสถานศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล